Sunday, December 30, 2012

GUI MATLAB plans for 2013

หลายเดือนที่ผ่านมาผมพยายามจัดการกับการศึกษาของตัวเอง ทำให้ไม่ค่อยได้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Blog นี้เท่าที่ควรจะเป็น ด้วยเหตุนี้ผมควรมีแผนการพัฒนาที่ชัดเจนและเตือนสติว่าให้แบ่งเวลามาให้บ้าง ในปี พ.ศ. 2556 นี้ผมวางแผนสำหรับ Blog ไว้ดังนี้


1. ชำระบัญชีที่ค้างเรื่อง ทฤษฎีเกี่ยวกับ Color image (RGB) ให้เสร็จ
2. มุ่งศึกษาเรื่อง Video processing
3. มุ่งศึกษาเรื่อง Pattern recognition
4. ศึกษาและพัฒนา Particle tracking and Particle counting

นี่แผนที่จะทำให้ผมได้เขียนเรื่องที่ผมศึกษาบน Blog นี้อย่างน้อยเดือนละหนึ่งเรื่องก็ยังดี ความมุ่งหวังและความสำคัญของหัวข้อต่างๆ นั้นอาจเป็นเรื่องที่ตายไปแล้วหากแต่ผมยังไม่มีความรู้ในด้านนี้จึงต้องศึกษา เพื่อนำไปใช้กับงานของผมและถ้าโชคดีอาจค้นพบว่าเรื่องต่างๆ มันยังไม่ตายสนิทก็เป็นได้ เป็นเวลากว่าหนึ่งปีที่เริ่มทำงานพวกนี้ ทำให้เห็นว่าบางศาสตร์สาขาวิชา ยังมีความต้องการการพัฒนาจากงานด้านนี้อยู่และดูเหมือนว่าจะช่วยทำให้ชีวิตพวกเขามีความสุขและง่ายขึ้น ดังนั้นการเลือกศึกษาศาสตร์ด้านนี้ของกระผมก็ไม่ได้เป็นการผลิตขยะหรือทรากปรักหักพังทางการศึกษาเสียทีเดียว

(ถ้าว่างจะจัดการเรื่อง การพัฒนา GUI สำหรับเรื่อง Rutherford scattering ให้สำเร็จสี่ตอน)

Sunday, December 16, 2012

Real time image and video processing with MATLAB

ก่อนอื่นต้องรับตามตรงว่า ผมยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับ video processing ครับก็เลยลองค้นหาดูว่าใครทำอะไร มีปัญหา หรือช่องทางช่องว่างให้เราแทรกเข้าไปทำในส่วนที่ยังขาดหายไปหรือเปล่า แต่อย่างไรก็ตามครับ ผมก็ต้องเรียนจากชาวบ้านไปก่อน ผมไปเจออยู่เวบไซต์หนึ่งครับเห็นว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ซับซ้อนและทำงานได้ดีครับ เวบไซต์ที่ว่าก็คือ Matlabtips.com  และตัวอย่างที่ได้ลองเอามารันดูตามนี้ครับ ลองทำเป็นวีดิโอเพื่อนับจำนวนรถที่วิ่งผ่านถนนหน้าห้องทำงานครับ ก็พอจะมองเห็นว่าโปรแกรมนี้น่าเอาไปประโยชน์อย่างอื่นได้อีก ในภาพด้านล่างมีทั้งหมดสามรูปที่ผม print screen จากคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ภาพเล็กด้านซ้ายสุดแสดงภาพที่ capture จากวีดิโอ เมื่อยังไม่มีวัตถุวิ่งผ่าน ภาพกลางเป็นมอเตอร์ไซต์วิ่งผ่าน และขวาสุดเป็นรถยนต์ที่วิ่งผ่านไป จะเห็นว่าค่าโดยเฉลี่ยของวีดิโอเฟรมเปลี่ยนแปลงในลักษณะเป็นพีคให้เราเห็นนะครับ ถ้าพัฒนาต่อปรับทั้งโปรแกรม เครื่องมือ และวิธีการ เก็บข้อมูล ผมว่าน่าจะใช้ประโยชน์ได้ในหลายแง่มุมครับ



   
และนี่เป็นตัวอย่างในยูทูปครับ ที่เจ้าของโค๊ดเขาทำไว้ครับ





ต้องติดตามกันต่อไปว่าเราจะต้มยำทำแกงกับโปรเจ็กนี้ต่อไปอย่างไรนะครับ ไม่แน่ผมอาจจะเอาไปนับเม็ดเลือดก็ได้นะครับ (เคยส่องเม็ดเลือดแดงบริเวณหางของปลาทอง สมัยเรียน) ก็เป็นโปรเจ็กที่น่าสนใจหรือไม่ก็เอาไปให้น้องๆที่สนใจ ไปพัฒนาเล่นๆ จะได้มีโปรเจ็กทำหากใครชอบแนวนี้ หรือจะเอาไปรวมกับวิธีการตรวจจับอะไรสักอย่างร่วมกับเทคนิคอื่น เช่นวัดการวาวแสงของวัตถุ วัดด้วยเทคนิคทางไฟฟ้า สรุปหลักการใหญ่ๆ มันก็มีไม่กี่แนวคิด แต่เวลาลงมือทำนี่สิไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หลักการที่ว่าส่วนใหญ่ต้องอาศัยวิชาฟิสิกส์ทั้งนั้นละครับ เช่น ตรวจจับด้วย แสง ไฟฟ้า (กระแสไฟฟ้า สภาพการนำไฟฟ้า ค่าความจุไฟฟ้า ...) สนามแม่เหล็ก สนามไฟฟ้า คลื่นชนิดต่างๆ เป็นต้น

 ถ้าท่านไหนคิดอะไรได้หรือพัฒนาอะไรไปบ้างก็เอาแบ่งกันชมบ้างนะคร๊าบ